/ / 5 ตำแหน่งงานเกี่ยวกับดีไซน์ที่จะสาบสูญไปในอนาคต !!?!

5 ตำแหน่งงานเกี่ยวกับดีไซน์ที่จะสาบสูญไปในอนาคต !!?!

with No Comments

และ 7 ตำแหน่งงานที่จะเติบโตและโลดแล่นในวงการออกแบบ จากความเห็นของผู้นำด้านการออกแบบ อาทิ Frog Ideo Artefact Teage และอีกมากมาย

 

JOHN BROWNLEE เขียน // PIRANAT PINVISES แปล ดูต้นฉบับ

 


[ภาพจาก: Maskot/Getty Images]

 

นักออกแบบอวัยวะภายใน (Organ designers) ผู้บริหารฝ่ายออกแบบประสบการณ์การใช้เครื่องร่อนบังคับวิทยุ (chief drone experience designers) หรือแม้แต่ ผู้อำนวยการไซเบอร์ (cybernetic director)

ชื่อตำแหน่งเหล่านี้ดูจะหวือหวาน่าสนใจและดูใหม่สำหรับดีไซน์เนอร์บ้านๆอย่างเราๆ แต่มันคือตำแหน่งงานในกลุ่มของงานออกแบบอุตสาหกรรมในระดับโลก (global design industry) ที่พึ่งจะเกิดขึ้นมาในระยะไม่กี่ปีนี้

 

แล้วตำแหน่งงานเกี่ยวกับการออกแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันล่ะ? ตำแหน่งงานเหล่านั้นจะมีความเป็นไปอย่างไรในอีก 15 ปีข้างหน้า ? เป็นไปได้ไหมว่าในปี 2030 ทุกๆบริษัทจำเป็นจะต้องมีผู้บริหารสูงสุดด้านการออกแบบ (chief design officer) หรือตำแหน่งงานนั้นจะสูญหายไปพร้อมกับกาลเวลา? และควรหรือไม่อย่างไร ที่เหล่านักคิดนักสร้างสรรค์ที่เติบโตมาโดยเชิดชูบูชา Jonathan Ive แห่ง Apple ที่จะเดิมพันอนาคตทางการงานไว้กับการออกแบบอุตสาหกรรมในรูปแบบเดียวกันกับที่พวกเขาได้เติบโตมาด้วยนั้น?

 


[ภาพ Jonathan Ive จาก: David M. Benett/Getty Images]

 

เราได้พูดคุยกับนักออกแบบชั้นแนวหน้า รวมถึงเหล่านักคิดนักสร้างสรรค์จากบริษัทต่างๆ อาทิ Frog Artefact และ Ideo เพื่อหาคำตอบว่า ตำแหน่งงานเกี่ยวกับการออกแบบตำแหน่งใดที่จะหายไปในอีก 15 ปีข้างหน้า และ ตำแหน่งงานไหนบ้างที่จะเติบโตและเป็นที่นิยม แต่อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเพียงความเห็นจากเหล่าแนวหน้าในงานออกแบบ เหมือนเป็นการเสวนากันโดยไม่ได้มีการเอาข้อมูลอะไรมาหนุนในความเห็นนั้นๆอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ดี ความเห็นดังที่จะเขียนต่อไปนี้ก็สามารถเป็นตัวแทนของชุดความคิดจากผู้ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยงานในสายอาชีพนี้ ว่าคิดอย่างไรกับสายงานของตนในอนาคต

 


[ภาพจาก: fastcodesign]

 

ตำแหน่งงานที่เป็นไปได้ว่าจะล้มหายจากไป (DESIGN JOBS THAT WILL DIE OUT)

 

3062640-poster-p-1-what-google-wants-the-next-generation-of-ux-designers-to-know

[ภาพจาก: fastcodesign]

 

UX Designers (UX ย่อมาจาก user experience ซึ่งขอแปลแบบตรงตัวว่า นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้)

ในปัจจุบัน ตำแหน่งนักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ เป็นหนึ่งในตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงสุดจากผู้จ้างงาน แต่ไฉนตำแหน่งงานนี้กลับจะล้มหายจากไปล่ะ? จากความเห็นของ Clint Rule, Eric Lawrence และ Matt McElvogue สามนักออกแบบจาก Teague พวกเขามองว่า งานออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ มันกลายเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างและค่อนข้างคลุมเครือ “ในสังคมของการออกแบบนั้นมองงานออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ว่าเป็นงานที่ฉาบฉวยและหละหลวมอยู่ในที มันกระโดดไปมาระหว่างความรับผิดชอบในส่วนต่างๆที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านเครื่องมือ และในด้านการทำงาน ในตอนนี้มันเหมือนกับว่าความรับผิดชอบของตำแหน่งงานนี้จะมารวมอยู่ที่ทักษะในการบริหารความเป็นประชาธิปไตยทางการออกแบบและสามารถสร้างกราฟฟิกบนหน้าจอผู้ใช้ได้อย่างเป็นมิตร (democratized design skills that produce friendly GUIs) ก็เท่านั้น” พวกเขาคาดการณ์อีกว่า ในอนาคต งานในตำแหน่งนักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ทำงานในแบบเฉพาะทางมากกว่าที่เป็นอยู่ “การที่ประสบการณ์นั้นได้รับการเข้าถึงจากผู้ใช้อย่างมหาศาลนั้น จะนำมาซึ่งความต้องการในการจัดระเบียบ ซึ่งจะเป็นการผลักให้ตำแหน่งงานนักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ไปถึงจุดแตกหักที่จะต้องแบ่งภาระให้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานที่เหมาะสมแทน” พวกเขากล่าว

 

Visual Designers (นักออกแบบทัศนศิลป์ ในที่นี้อาจรวมถึงนักออกแบบกราฟฟิก)

ผู้ที่ทำการออกแบบกราฟฟิกนั้นเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องหน้าตาความสวยงามของแอปพลิเคชัน (looks)  ในขณะที่นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX designer) จะรับผิดชอบในส่วนของความรู้สึก (feels) ซึ่งโดยทั่วไปนักออกแบบจะต้องรับผิดชอบในทั้งสองส่วนนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ ตำแหน่งงานที่ต้องการเพียงทักษะในการออกแบบกราฟฟิกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะหายไป จากความเห็นของ Charled Fulford ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ (Executive Creative Director) จากบริษัท Elephant (Elephant เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก และก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับงานของบริษัท Apple โดยเฉพาะ) “ที่จะหายไปคือการที่นักออกแบบประสบการณ์นั้นจับเอาโครงร่าง (wireframe) ต่างๆมายัดเยียดเพื่อให้กับนักออกแบบกราฟฟิกทำตาม” เขากล่าวต่อ “รวมถึงพวกนักออกแบบกราฟฟิกที่ไม่เข้าใจการใช้งานของผู้ใช้ด้วยเช่นกัน” สิ่งที่เป็นที่ต้องการไม่ใช่เพียงนักออกแบบที่สามารถนำเสนอแนวความคิดได้เท่านั้น แต่จะต้องสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงด้วย โดยใช้ทักษะในด้านการเขียนโปรแกรม และทักษะในการสร้างต้นแบบ

 

Rob Girling ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Artefact ที่ปรึกษาด้านการออกแบบ (design consultancy) ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ในอีก 10 ปีข้างหน้า งานเกี่ยวกับทัศน์ศิลป์ (visual) จะเริ่มถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติจากอัลกอริธึมที่เขียนขึ้นมาเพื่อตอบสนองงานด้านภาพโดยเฉพาะ (augmented by algorithmic visual approaches)” ในท้ายที่สุดแล้ว องค์กรที่ทำงานในด้านการออกแบบเริ่มให้ความสนใจการใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น เพื่อออกแบบอัลกอริธึมในการประมวลผลในแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน รวมถึงการประมวลผลข้อมูลจากผู้ใช้นับล้านในเวลาเดียวกัน “การใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือนั้น ทำให้นักออกแบบสามารถได้มาซึ่งโครงร่าง (template) เป็นร้อยแบบโดยอ้างอิงจากข้อมูลและตัวแปรต่างๆ ฯลฯ เราได้เห็นตัวอย่างการใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบถูกนำมาใช้จริงแล้ว โดยนักออกแบบเกม” ยกตัวอย่าง จักรวาลที่มีดวงดาวประมาณ 17,000 ล้านดวง ในเกมสุดฮิตที่ชื่อว่า No Man’s Sky โดยดวงดาวทั้งหมดในเกม ที่ให้เราไปสำรวจได้นั้น จะถูกส้รางขึ้นโดยอัติโนมัติจากชุดอัลกอริธึมที่ถูกออกแบบมานั่นเอง

 

พูดง่ายๆก็คือถ้าคุณเป็นนักออกแบบกราฟฟิกอยู่ในตอนนี้คุณคงต้องเริ่มปรับตัวแล้วล่ะ

 

3062764-inline-1-18-quintillion-planets-0-fun

[ภาพจาก: fastcodesign]

 

Design Researchers (นักวิจัยข้อมูลด้านการออกแบบ)

“นักออกแบบที่เชี่ยวชาญในด้านการหาข้อมูลนั้นมีความสำคัญและได้รับความต้องการ เมื่อครั้งที่การหาข้อมูลด้านชาติพันธุ์และด้านวัฒนธรรมยังเป็นเรื่องใหม่ในงานออกแบบ” CEO ของบริษัท Frog อย่าง Harry West ได้อธิบายไว้ “บทบาทของนักค้นคว้าวิจัยกำลังกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในนักออกแบบทุกประเภท การรับงานออกแบบในทุกวันนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าคุณจะต้องเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า กล่าวคือ นักออกแบบทุกคนจะต้องรู้วิธีการในการหาข้อมูลของลูกค้าและทำการศึกษาข้อมูลเหล่านั้น” ในที่สุดแล้ว นักวิจัยด้านการออกแบบก็จะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป “มันเป็นหน้าที่และทักษะพื้นฐานที่นักออกแบบจำเป็นต้องมีและต้องรู้วิธีการอยู่แล้ว” West กล่าว

 

John Rousseau ผู้อำนวยการบริหาร (executive director) จากบริษัท Artefact ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเช่น เครื่องจักรที่เรียนรู้เองได้ และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง กำลังทำลายความจำเป็นของการมีนักวิจัยด้านการออกแบบ “งานวิจัยด้านการออกแบบในแบบที่เราคุ้นเคยจะหายไป อย่างน้อยก็ในบริบทของสายงานที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ (ethnographic field) งานวิจัย และนักวิจัย จะถูกแย่งงานจากระบบการเก็บข้อมูลอัตโนมัติ ที่ใช้ร่วมกับเซนเซอร์ไร้สาย และนำเสนอสู่ผู้ใช้ผ่านโลกเสมือนจริง”

 

3042928-inline-i-1b-the-laymans-guide-to-virtual-reality

[ภาพจาก: flickr user Sergey Galyonlin]

 

Traditional Industrial Designers (นักออกแบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม)

นักออกแบบส่วนใหญ่ที่เราได้ถามนั้น มักจะมองว่าเส้นทางการงานของตนยังคงโปรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ไม่ใช่สำหรับผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design Director) จากบริษัท Artefact อย่าง Markus Wierzoch เขากล่าวว่านักออกแบบอุตสาหกรรมที่ได้รับการฝึกฝนมาในรูปแบบดั้งเดิม ผู้ที่ยังคงยึดติดอยู่ในส่วนของ “อุตสาหกรรม” ในอาชีพของตนมากจนเกินไป พูดอีกอย่างก็คือ มุ่งความสนใจไปที่ส่วนของความสวยงามเชิงรูปทรงของผลิตภัณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว จะถูกมองว่าเป็น “ดีไซน์โนเสาร์ (Designosaurs)” หรือล้าหลังนั่นเอง

 

“นักออกแบบอุตสาหกรรมไม่อาจคงอยู่ได้ท่ามกลางสูญญากาศ (ทำงานเป็นเอกเทศโดยไม่เกี่ยวข้องกับใคร) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน” เขาได้เขียนไว้ว่า ปัญหาหลักๆก็คือ รูปทรงนั้นไม่ได้เป็นไปตามการใช้งานแต่เพียงเท่านั้นอีกต่อไป มันจะมีเรื่องของซอฟท์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (เคยมีคำกล่าวที่ว่า form follows function คือรูปทรงของผลิตภัณฑ์ควรจะสัมพันธ์ตามลักษณะการทำงานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ) นั่นหมายความว่าในอนาคตนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการคิดหาหนทางที่ผู้ใช้จะใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมถึงประสบการณ์ในการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย บทบาทนี้ Wierzoch ได้เรียกมันว่า “นักออกแบบอุตสาหกรรมยุคหลัง (Post-industrial designer)” (มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง)

ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบผสมผสาน (Director of Integrated Design) จากมหาวิทยาลัย UT Austin อย่าง Doreen Lorenzo เช่นกัน ได้เล็งเห็นว่าบทบาทของนักออกแบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมจะค่อยๆหายไปในเร็วๆนี้ “ในอนาคต นักออกแบบทั้งหมดจะต้องเป็นลูกผสม (all designers will be hybrids)” เธอกล่าว

 

3058198-poster-p-1-ex-frog-president-doreen-lorenzo-to-join-faculty-at-u-t-austin

[ภาพ Doreen Lorenzo จาก: fastcodesign]

 

Chief Design Officers (ผู้บริหารสูงสุดด้านการออกแบบ)

“ในตอนนี้กระแสของการมีตำแหน่งที่จัดการเกี่ยวกับการออกแบบในฝ่ายบริหารระดับสูงขององค์กรนั้นน่าจะอยู่ในช่วงขาลง” Sheryl Cababa ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบจากบริษัท Artefact ได้กล่าวไว้ แต่ถึงกระนั้น บทบาทของตำแหน่งนี้มีความเป็นไปได้ และควรที่จะหายไป เพราะเป็นความซ้ำซ้อนในหน้าที่รับผิดชอบ “งานออกแบบที่ดีนั้น จะมีความเป็นพื้นฐาน (fundamentally) และมีความแตกต่างหลากหลาย (interdisciplinary) อยู่ในตัวเอง นั่นหมายความว่าองค์กรใดๆก็ตามที่ดำเนินการอยู่ในขอบเขตของงานออกแบบ (design-oriented) ผู้บริหารทั้งหมดขององค์กรนั้นๆจะต้องมาจากพื้นหลังที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดด้านงานออกแบบก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว”

 

CEO Tim Brown ได้สะท้อนแนวคิดในลักษณะเดียวกันว่างานออกแบบจะถูกรวมอยู่ในกรอบความคิดของผู้บริหารอยู่แล้วในที่สุด รวมถึงผู้บริหารประเภทที่ไม่ยอมรับแนวคิดในการบริหารงานออกแบบก็จะล้มหายจากวงการไปเช่นกัน “ธุรกิจต่างๆกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคที่ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลมีความสำคัญและมีมูลค่าอย่างมากในเชิงของประสิทธิภาพ มาสู่ยุคที่ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบกลายมาเป็นทักษะพื้นฐานในการจัดการกับความซับซ้อนทั้งหลาย (complexity) ความไม่แน่นอนของตลาด (volatility) และความต้องการทางนวัตกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลายเหล่านี้จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าปราศจากผู้บริหารระดับ CEO ที่มีความเข้าใจเรื่องการออกแบบ”

 

ตำแหน่งงานด้านการออกแบบที่จะมีการเติบโต (DESIGN JOBS THAT WILL GROW)

 

control-vr

[ภาพจาก: techcrunch]

 

Virtual Interaction Designer (นักออกแบบที่เกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนจริง)

เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual reality) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (augmented reality) นั้นมีเป้าหมายที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่า 150 เหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2020 และจะมีการแทรกซึมเกี่ยวพันอยู่กับทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ระบบสุขภาพไปจนถึงสถาปัตยกรรม Doreen Lorenzo แห่งมหาวิทยาลัย UT Austin มีความคิดว่าเหล่านักออกแบบกราฟฟิกบนหน้าจอผู้ใช้ (user interface designer) จะเริ่มหันมาติดเครื่อง Oculus Rifts และผันตัวมาเป็น นักออกแบบหน้าจอผู้ใช้ในโลกเสมือน (VI designer) “ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์หลายๆประเภท จะกลายมาอยู่ในโลกเสมือนจริงแทน ตั้งแต่หุ่นที่สามารถพูดคุยตอบสนองกับเราได้ ไปจนถึงการฉายภาพจำลองของสภาพแวดล้อมแบบเสมือนจริง เราจะได้พบกับยุคใหม่ของนักออกแบบการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนจริง เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานของผู้ใช้ ผ่านบทสนทนาจริงๆ การใช้ท่าทางและภาษากาย รวมถึงการใช้แสงเพื่อออกคำสั่งอีกด้วย” เธอกล่าว

 

3047486-inline-i-1-from-mits-neri-oxman-wearables-to-survive-the-apocalypse-copy

[ภาพจาก: han Williams/Paula Aguiler/courtesy of Mediated Matter]

 

Specialist Material Designers (ผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบด้านวัสดุศาสตร์)

Yvonne Lin แห่ง 4B Collective เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ นักออกแบบที่สามารถทำงานได้กับวัสดุที่แตกต่างหลากหลายจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก เธอได้ยกตัวอย่างถึงสถาปัตยกรรมที่สร้างจากไม้ไผ่กำลังจะเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากชาวตะวันตกเริ่มที่จะยอมรับคุณสมบัติของตัววัสดุในเรื่องของ “ความเป็นไปได้ต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการมีวัสดุที่สามารถรับน้ำหนักได้ดี และปลูกได้ง่าย (โตสามฟุตภายในเวลา 24 ชั่วโมง) ซึ่งสามารถใช้ผลิตด้วยกระบวนการดัด สามารถทำให้เป็นแผ่นได้ เข้ามุมได้ดี และยังสามารถใช้งานเป็นเส้นได้อีกด้วย” อย่างเช่นที่ใช้กันในแถบตะวันออก

 

เธอว่านักออกแบบที่สามารถประติดประต่อทักษะด้านวัสดุต่างๆนั้นแหละที่จะเป็นที่ต้องการในการสร้างของใช้ที่เป็นโครงสร้างแต่มีความอ่อนนุ่ม (structural soft goods) แล้วมันคืออะไรกัน? ลองนึกถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัย MIT ที่ Neri Oxman ได้ออกแบบไว้ (มันคือเสื้อคลุมหรือชุดชีวภาพที่สามารถทำปฏิกิริยาทางชีวะกับร่างกายของมนุษย์ได้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐฯ) หรือเครื่องสวมใส่ที่มีความไฮเทคพอๆกับความเป็นเครื่องทอที่สวมใส่ได้ดี ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างแผงวงจรไฟฟ้าและเส้นสายของใยผ้า อย่างในโปรเจ็กต์ Jaquard จาก Google (แปลงเสื้อให้เป็นจอทัชกรีน)

3046864-inline-i-2-project-jacquard-googles-plan-to-turn-all-copy

[ภาพ Project Jaquard จาก: fastcodesign]

 

“ในทุกวันนี้ยังคงมีช่องว่างระหว่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นงานแบบแข็งกับชิ้นงานที่อ่อนนุ่มอยู่ และมีเพียงน้อยคนนักที่สามารถจัดการกับสองสิ่งนี้ร่วมกัน” เธอกล่าว “องค์ความรู้ในการผสมผสานความเป็นผ้า (เพื่อความสบายในการสวมใส่) กับพลาสติกและโลหะ (สำหรับโครงสร้างและฟังก์ชัน) จะมีประโยชน์อย่างมากในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมกีฬา และเมื่อผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ความต้องการที่จะเล่นกีฬามีมากขึ้น อุปกรณ์ที่สวมใส่สบายและทรงประสิทธิภาพก็ยิ่งจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น”

 

3062170-inline-i-1-what-the-tesla-death-teaches-us-about-designing-self-driving-cars

[ภาพจาก: fastcodesign]

 

Algorithmic/AI Design Specialists (ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอัลกอริธึมและปัญญาประดิษฐ์)

ในสิบห้าปีที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับเหล่านักออกแบบมากมายและน้อยคนนักที่จะกลัวว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานของพวกเขาในอนาคน ถึงกระนั้นก็ตาม “โดยพื้นฐานแล้วการเขียนโปรแกรมที่นำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้นั้นเป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียว” จากคำพูดของ Rob Girling จากบริษัท Artefact เขาเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นจะทำให้เราได้มาซึ่งโอกาสใหม่ๆในการออกแบบ ซึ่งเขาและนักออกแบบไม่น้อยที่มองว่านี่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเลยทีเดียว

 

“การออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้นได้ขยายวงกว้างจากการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ (industrial design) มาถึงการออกแบบประสบการณ์ (โดยการเพิ่มส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้,การออกแบบรูปลักษณ์,และการออกแบบพื้นที่ใช้สอย) และก้าวต่อไปก็คือ การออกแบบระบบของพฤติกรรม: กล่าวคือ การออกแบบชุดอัลกอริธึมที่สามารถระบุพฤติกรรมของระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย” Harry West จาก Frog กล่าว

 

ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบอัลกอริธึมที่จะระบุว่ายานยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัตินั้นจะตอบสนองได้อย่างถูกต้องอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดการชนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “ความท้าทายสำหรับนักออกแบบก็คือการผสมผสานการเขียนโปรแกรมให้เข้ากับประสบการณ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น”

 

Post-Industrial Designers (นักออกแบบอุตสาหกรรมใหม่)

“ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ตั้งแต่โซฟาที่นั่งของคุณไปจนถึงสายรัดข้อมือสำหรับเล่นกีฬา ตั้งแต่ในโรงพยาบาลไปจนถึงในกระเป๋าเงินของคุณ เราจำเป็นที่จะต้องคิดเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกันด้วยเช่นกัน” Markus Wierzoch จาก Artefact กล่าว “เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นได้สร้างโอกาสทางมูลค่าได้เป็นอย่างมาก นั่นทำให้เราต้องปรับกระบวนการทางการออกแบบเพื่อที่จะขยายประสิทธิภาพของสิ่งของเครื่องใช้ไปให้มากกว่าเพียงแค่ฟอร์มและฟังก์ชันของมันเท่านั้น”

 

กล่าวถึงนักออกแบบอุตสากรรมใหม่นั้น พวกเขาจำเป็นจะต้องคิดเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ใช้ที่จะสามารถสร้าง “ประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างโลกของดิจิตอลและโลกความเป็นจริง” Wierzoch กล่าว

 

ยกตัวอย่างเช่น นักออกแบบในอนาคตที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบแปรงสีฟันไฟฟ้า จะต้องมั่นใจว่าแปรงสีฟันอันนั้นเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้รู้สถานะและข้อมูลต่างๆ และยังเชื่อมต่อกับบ้านอัจฉริยะ มันจะไม่ใช่แค่การออกแบบสิ่งของที่สามารถทำความสะอาดฟันได้ดีเพียงเท่านั้นอีกต่อไป

 

“จะต้องมีใครบางคนที่มารับผิดชอบหน้าที่ในการร้อยเรียงประสบการณ์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน” คำกล่าวจาก Mark Rolston จาก Argodesign

 

Design Strategists (นักกลยุทธ์การออกแบบ)

ถึงแม้ว่านักวิจัยงานออกแบบอาจจะไม่เป็นที่นิยมนักในอีกสิบห้าปีข้างหน้านี้ แต่ John Rousseau แห่ง Artefact คิดว่า สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือนักกลยุทธการออกแบบ “นักกลยุทธการออกแบบจะค่อยๆเริ่มมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการมากขึ้น” เขากล่าว “นักกลยุทธการออกแบบในอนาคตจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจและสร้างระบบที่ซับซ้อนขึ้นมาได้” เขายกตัวอย่างถึงเครือข่ายโซเชียลมีเดียและระบบห่วงโซ่อุปทาน “และจะสามรถออกแบบสินค้าและบริการใหม่ภายใต้สภาวะผันผวนของตลาดซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างและไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี” พูดอีกอย่างก็คือ โลกในอนาคตที่ถูกจำกัดด้วยการเมือง สังคม ธุรกิจ และความถดถอยทางเทคโนโลยี สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และภายใต้อนาคตแบบนั้น Rousseau กล่าวว่านักกลยุทธการออกแบบนั่นแหละที่จะเป็นเหมือนกับนักบัลเล่ต์ที่นำพาองค์กรเข้า-ออกจากปัญหาต่างๆ เขากล่าวว่า “มันจะเป็นการเต้นมากกว่าการเดินขบวน” (น่าจะหมายถึงการแก้ปัญหาอย่างมีความสุขนะ-ผู้แปล)

 

Organization Designers (นักออกแบบองค์กร)

แผนผังองค์กรในอนาคตคงจะไม่เป็นไปอย่างผังองค์กรในแบบที่ผ่านมาในอดีต นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หุ้นส่วนของ Ideo อย่าง Bryan Walker คิดว่าตำแหน่งนักออกแบบองค์กรจะช่วยทำให้องค์กรนั้นสามารถปรับตัวได้อย่างสร้างสรรค์ เขากล่าวว่า “นักออกแบบองค์กรเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนชุดความคิดขององค์นั้นๆในระดับรากฐานทั้งในเชิงโครงสร้าง เชิงกระบวนการ ทั้งยังกระตุ้นความสามารถในเชิงปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ตลอดจนการทำงานร่วมกันและการติดต่อสื่อสารผ่านเครื่องมือในระบบดิจิตอล”

 

Freelance Designers (นักออกแบบอิสระ)

ทำความคุ้นเคยกับการทำงานในชุดนอน เพราะจากความเห็นของ Clint Rule, Eric Lawrence และ Matt McElvogue จากบริษัท Teague แล้ว พวกเขามองว่าอนาคตงานออกแบบคือการทำงานอิสระ “ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (creative AI)  และตลาดความคิดสร้างสรรค์ในระดับโลก (global creative marketplaces) จะทำให้นักออกแบบแต่ละคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและชุดทักษะความรู้ที่ในสมัยก่อนนั้นจะมีอยู่เฉพาะในองค์กรใหญ่ๆ ซึ่งมันจะกระตุ้นประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ทั้งในด้านความเชี่ยวชาญ ความมีประสิทธิภาพ และความเป็นเอกราช (independecy) ของเหล่านักออกแบบขึ้นมาด้วยเช่นกัน” ในมุมมองของพวกเขานั้นนักออกแบบอิสระในอนาคตจะไม่ได้ทำงานตรากตรำอย่างเดียวดาย แต่นักออกแบบอิสระเหล่านั้นจะสร้าง “เครื่อข่ายของที่ปรึกษาในระดับจุลภาค (network of micro-consultancies)” ที่จะสามารถแข่งขันกับองค์กรใหญ่ๆได้อย่างดีทีเดียว

Leave a Reply