/ / ก่อนที่ “จินตนาการ(จะ)สำคัญกว่าความรู้…Before “Imagination is more important than knowledge”

ก่อนที่ “จินตนาการ(จะ)สำคัญกว่าความรู้…Before “Imagination is more important than knowledge”

with No Comments


PIRANAT PINVISES

[ภาพ: ภาพไอน์สไตน์แลบลิ้น มีที่มาจากการที่เขาเหนื่อยเกินไปที่จะยิ้มให้กับช่างภาพเหล่านั้น (The famous Einstein’s tongue when he was too tired to smile for cameras)]

ประโยคอมตะ (THE QUOTE)

คุณอาจเคยได้ยินใครบางคนอ้างถึงประโยคอมตะของไอน์สไตน์ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เพียงเพื่อจะสื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนมากก็ได้ เพียงแค่ใช้จินตนาการก็จะสามารถผ่านพ้นสิ่งต่างๆไปได้ ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเรามาดูบริบทของคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ Saturday Evening Post ในปีพ.ศ. ๒๔๗๒;

[ภาพ: นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกกำลังอธิบายปัญหาให้กับเลขาของเขาเพื่อให้จดบันทึกตาม (The world’s famous physicist and mathematician explaining a problem to his secretary while dictating to her.) saturdayeveningpost.com]

[เวียเร็ค] “ถ้าพวกเราไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างที่คุณว่า คุณจะอธิบายถึงการพัฒนาอันก้าวกระโดดในวงการวิทยาศาสตร์นี้อย่างไร? หรือคุณให้เหตุผลของการค้นพบอันสำคัญของคุณนั้นว่ามาจากสัญชาตญาณและแรงบันดาลใจอย่างนั้นหรือ?”

[ไอน์สไตน์] “ฉันเชื่อในสัญชาตญาณและแรงบันดาลใจ บางครั้งฉันมีความรู้สึกว่าทฤษฎีของฉันถูกต้อง ฉันไม่ได้รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้น เมื่อครั้งที่คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนจาก Royal Academy ได้ทำการทดสอบทฤษฎีสัมพันธภาพ ฉันมีความแน่ใจอย่างมากว่าผลการทดสอบจะเป็นไปในทางเดียวกับสมมุติฐานของฉัน และฉันไม่ได้มีความรู้สึกแปลกใจเลยเมื่อครั้งที่เกิดสุรียคราสในวันที่ 29 พฤษภาคม 1919 นั้นได้ยืนยันว่าสัญชาตญาณของฉันนั้นถูกต้อง กลับกัน ฉันจะรู้สึกแปลกใจถ้ามันไม่เป็นเช่นนั้น”

[เวียเร็ค] “ถ้าอย่างนั้น คุณมีความไว้ใจในจินนาการมากกว่าความรู้อย่างนั้นหรือ?”

[ไอน์สไตน์] “ฉันมีความเป็นศิลปินเพียงพอที่จะวาดลวดลายอย่างอิสระไปตามแต่ที่จินตนาการจะพาไป จินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้ ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกจำกัด แต่จินตนาการนั้นเป็นสิ่งที่กว้างใหญ่จนโอบล้อมโลกทั้งใบ”

เรื่องของเรื่อง… (IN THE MATTER OF…)

ถ้าคิดในเชิงเปรียบเทียบแล้ว คำกล่าวในเชิงอุปมาของไอน์สไตน์นั้นน่าจะต้องการชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เขาค้นพบทฤษฎีที่ส่งผลกระทบถึงทุกๆอย่างและเป็นฐานที่สำคัญของวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป และทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ ถ้าใครที่พอเข้าใจหลักการของทฤษฎีดังกล่าวอยู่บ้างและได้อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มจาก Saturday Evening Post แล้วล่ะก็ จะเห็นได้ว่าไอน์สไตน์น่าจะมีความเชื่อว่าทุกสิ่งนั้นไม่สามารถวัดได้อย่างตายตัว หรือมีความไม่แน่นอนนั่นเอง ดังนั้นถ้าเราต้องการวัดค่าที่แท้จริงของสิ่งใดๆก็ตามอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้คือเราต้องมีการ”อ้างอิง”เชิง”เปรียบเทียบ”กับสิ่งอื่นด้วย กลับมาที่บทสัมภาษณ์ ไอน์สไตน์กล่าวต่อไปว่า “ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่จำกัด” ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นหลักของใจความของคำกล่าวนี้เลย เพราะถ้าเราลองคิดดูดีๆ คนที่จะสามารถพูดได้ว่าความรู้เป็นสิ่งจำกัดนั้นจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในองค์ความรู้นั้นๆแล้วจึงจะสามารถมั่นใจได้ว่าความรู้นั้นมีข้อจำกัด พูดง่ายๆคือ ก่อนที่ความรู้จะเป็นสิ่งที่จำกัดคุณจะต้องมีความรู้เสียก่อน ไอน์สไตน์ยังมีคำกล่าวที่น่าสนใจอีกว่า

“การใช้ความคิดบนหลักเหตุผลล้วนๆนั้นไม่สามารถทำให้เราได้มาซึ่งความรู้ใดๆในโลกของความเป็นจริง ความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในโลกของความเป็นจริงนี้เริ่มต้นและจบลงภายใต้สิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์”

– Einstein, Albert. Ideas And Opinions (p. 271). Crown Publishing Group.

จากคำกล่าวนี้จะเห็นว่าไอน์สไตน์นั้นก็ให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งความรู้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งการที่เขาทำงานอยู่ที่สำนักงานสิทธิบัตร ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าไอน์สไตน์นั้นชอบที่จะอยู่ท่ามกลางความรู้ เพราะนั่นเป็นที่ๆความรู้ที่ถูกตกผลึกเป็นอย่างดีไปอยู่รวมกัน เพียงแค่เขาให้คุณค่ากับจินตนาการมากกว่า เมื่อเทียบกับความรู้ เท่านั้นเอง จินตนาการเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ต่างๆ เพราะจินตนาการทำให้เกิดความสงสัย ซึ่งนำไปสู่ความตั้งใจที่จะหาคำตอบในสิ่งที่ไม่รู้ นั่นคือการทำงานของจินตนาการ แต่ในไม่ช้าหลังจากนั้น ก็จะต้องมีการสร้างหรือเพิ่มเติมความรู้ที่เหมาะสม เพื่อจะเป็นฐานในนั้นถัดไปให้จินตนาการกลับมาทำงานอีกครั้ง เพื่อนำทางความรู้ไปสู่จุดถัดไป

[image: ไอน์สไตน์ในสำนักงานสิทธิบัตร (Einstein at patent office.) www.ige.ch]

ดังนั้น การอ้างถึงคำกล่าว “จินจนาการสำคัญกว่าความรู้” โดยไม่คำนึงถึงบริบทแวดล้อมหรือเหตุผลที่สนับสนุนคำกล่าวนั้นๆ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องเรียนรู้เรื่องที่เป็นเชิงเทคนิคหรือเป็นความรู้เฉพาะทาง ให้ลองคิดดูว่า จินตนาการ ที่ปราศจากความรู้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับฝันกลางวัน ถ้าเราเริ่มต้นจากการแถลงอย่างไม่มีเหตุผลรองรับ ย่อมนำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่มีเหตุผลตามมา พฤติกรรมในการทำสิ่งต่างๆอย่างไร้เหตุผลซึ่งเป็นความพยายามที่จะปฏิเสธทุกอย่างที่ขวางหน้า ย่อมไม่ต่างจากแนวคิดแบบอนาธิปไตย

อาจฟังดูคุ้นๆ แต่ถ้าลองมาคิดดูดีๆ ในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเต็มไปด้วยผู้คนที่มีแนวความคิดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เพียงแค่ใช้จินตนาการ แล้วหวังว่าจะผ่านพ้นทุกอย่างไปได้ด้วยดี มันจะยิ่งนำไปสู่สังคมที่ไร้เหตุผลและยิ่งไปกว่านั้นมันจะทำลายหลักจรรยาบรรณในสังคมลงไปด้วยหรือไม่ในระยะยาว ยังไงผู้เขียนก็หวังว่าเราจะไม่ตกต่ำขนาดที่เป็นอย่างในภาพยนต์เรื่อง “Idiocracy

ในฐานะที่เป็นนักออกแบบอุตสาหกรรม พวกเราถูกฝึกมาให้ใช้จินตนาการอย่างมากในระหว่างการเรียนใรรั้วมหาวิทยาลัย ถึงกับมีแนวทางที่จะบีบคั้น เค้นเอาจินตนาการออกมาจากจิตใต้สำนึกกันเลยก็ว่าได้ แต่ถึงกระนั้นพวกเรานักออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ยังตระหนักถึงความไร้ค่าของจินตนาการถ้าไม่มีหลักการหรือปัจจัยที่สนับสนุนต่อจินตนาการหรือแนวความคิดนั้นๆ ไม่ว่าจะด้วยข้อมูล สถิติ หรือด้วยปรัชญาก็ตามแต่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการออกแบบมาอย่างดี ก็เหมือนกับการตอบคำถามอย่างถูกต้อง หมายถึงการแก้ปัญหานั่นเอง และในเกือบทุกกรณี ผลิตภัณฑ์ที่ดี นั้นจะมีเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังรูปทรง ฟังก์ชัน และรายละเอียดในทุกๆจุดบนตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัญหาต่างๆนั้นไม่อาจคงอยู่ได้จากจินตนาการเช่นกัน มันจะต้องมีเหตุและที่มาอยู่เสมอ

อย่างเช่นโลก ที่เปรียบเสมือนก้อนหินขนาดมหึมาที่ไม่ได้ลอยอยู่ท่ามกลางอวกาศได้ด้วยตัวของมันเอง เหตุที่ทำให้มันอยู่ในลักษณะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้และไม่ชนเข้ากับก้อนหินก้อนอื่นๆมากมายที่โคจรอยู่ในละแวกเดียวกันนั้น เป็นเพราะมีพลังงานที่เรียกว่าแรงโน้มถ่วงนั่นเอง ฉันใดฉันนั้น จินตนาการเองก็คงไม่อาจดำรงอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้หากปราศจากความเชื่อมโยงกับสื่อหรือตัวกลางที่ได้ดำรงอยู่แล้วในโลกของความเป็นจริงนั้น เช่นกัน

[image: ไอน์สไตน์กับเครื่องดนตรีที่เขาโปรดปรานมากที่สุด (Einstein enjoys his favorite instrument.) GettyImages]

ยังมีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำจินตนาการมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ในแง่มุมต่างๆ; The power of imagination

และอีกบทความที่เกี่ยวกับประโยคอมตะของไอน์สไตน์ประโยคนี้; Is imagination more important than knowledge?

บรรณานุกรม

http://www.thejournal.ie/readme/the-power-of-imagination-1553363-Jul2014/

http://www.saturdayeveningpost.com/2010/03/20/history/post-perspective/imagination-important-knowledge.html

http://www.saturdayeveningpost.com/wp-content/uploads/satevepost/what_life_means_to_einstein.pdf

http://www.bbc.com/news/science-environment-35557727

https://en.wikiquote.org/wiki/Albert_Einstein

https://en.wikipedia.org/wiki/Theory_of_relativity

https://quoteinvestigator.com/2013/01/01/einstein-imagination/

http://www.simplethingcalledlife.com/stcl/knowledge-experience-quote/

Einstein, Albert. Ideas And Opinions (p. 271). Crown Publishing Group.

อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ >> คลิกที่นี่

Leave a Reply